วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วันต่อต้านยาเสพติดโลก

คําขวัญยาเสพติด 2558 วันต่อต้านยาเสพติด 26 มิ.ย.


วันต่อต้านยาเสพติดโลก

วันต่อต้านยาเสพติด 

          คำขวัญวันต่อต้านยาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิ.ย. ตามมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลองไปดูความเป็นมาของวันต่อต้านยาเสพติด พร้อมคําขวัญวันต่อต้านยาเสพติดกัน

          ด้วยสภาพปัญหายาเสพติดที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนทั้งทางตรง และทางอ้อมเป็นจำนวนมาก ทำให้นานาประเทศพยายามร่วมมือกัน เพื่อหาทางหยุดยั้งปัญหายาเสพติด จนกระทั่งที่ประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking ICDAIT) ได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" นั่นเอง เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหายาเสพติด

          และในประเทศไทยนั้น ก็มิได้ละเลยถึงปัญหายาเสพติด เพราะรู้ว่าเรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ตัวประชาชนเอง และครอบครัว รวมถึงประเทศชาติอีกด้วย ดังจะเห็นได้จาก พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีใจความว่า

          "....ยาเสพติดนี่มันก่อให้เกิดความเดือดร้อนหลายอย่าง โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ทั้งราชการ ตำรวจ โดยโรงพยาบาล โดยคน เอกชนต่าง ๆ เดือดร้อนหมด และสิ้นเปลือง คนทั่วประเทศก็สิ้นเปลือง แทนที่จะมีเงินทอง มีทุนมาสร้างบ้านเมืองให้สบาย ให้เจริญ มัวแต่ต้องมาปราบปราม ยาเสพติด มัวแต่ต้องเสียเงินค่าดูแลรักษาทั้งผู้เสพยา ผู้เป็นคนเดือดร้อนอย่างนี้ก็เสียทั้งเงินและเสียทั้งชื่อเสียง....." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาดุสิตาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2545

          เมื่อได้รู้ถึงปัญหายาเสพติดที่กำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลกแล้ว วันนี้ กระปุกดอทคอม ขอพาไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของ "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" กันดีกว่า

ประวัติความเป็นมาวันยาเสพติด

          ในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking ICDAIT) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 17-26 มิถุนายน 2530 ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น"วันต่อต้านยาเสพติดโลก" 
          โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2530 ซึ่งประเทศไทยหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทั่วโลก ด้วยการจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดเป็นประจำเสมอมา ดังนั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประชาชนไทยเกิดความตระหนักว่ายาเสพติดเป็นปัญหาของคนไทยทั้งชาติ ที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไข สำนักงาน ป.ป.ส. จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมกัน "สวมเสื้อสีขาว" โดยพร้อมเพรียงกันในวันต่อต้านยาเสพติดโลก

          ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหายาเสพติดมาเป็นเวลาช้านาน รัฐบาลในแต่ละยุคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาตลอด จนกระทั่งในปี 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักรโดยมีการเผาทำลายฝิ่นและอุปกรณ์การสูบฝิ่นที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2502 หลังจากนั้นปี 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง "คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ" ใช้ชื่อย่อว่า ปปส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีผู้แทนจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ 

          ต่อมา ในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้เล็งเห็นว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้โดยการดำเนินการเฉพาะกรมตำรวจฝ่ายเดียว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2519 ต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519

          ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยก็ได้ดำเนินไปอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบที่ดีขึ้น พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือเรียกชื่อย่อว่า ป.ป.ส. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส. ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบโดยตรง มีฐานะเป็นกรม กรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันสำนักกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          ประเทศไทย สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศมาโดยตลอด ได้นำมติเรื่องวันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา

วันต่อต้านยาเสพติดในประเทศไทย

 วันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2558

          สำหรับปี 2558 นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ให้คำขวัญเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติด 2558 ว่า "คิดดี ทำดี ต่อต้านยาเสพติด"

          ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ได้เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์รณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2558 ซึ่งได้คัดเลือกบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ นักกีฬา พิธีกร ศิลปิน นักแสดง จากสังกัดต่าง ๆ โดยพิจารณาคุณสมบัติในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความประพฤติ ผลงานที่อยู่ในความสนใจ การศึกษา ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่มีประวัติยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 6 คน คือ

              1. ร.ต.ท. เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (ซิโก้) หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักฟุตบอลชายทีมชาติไทย

              2. นายวรินทร ปัญหกาญจน์ (เกรท) นักแสดง สังกัดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

              3. นายมิกค์ ทองระย้า (มิกค์) นักแสดง สังกัดสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

              4. นางสาวปรีชญา พงษ์ธนานิกร (ไอซ์) นักแสดง สังกัด GTH (บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด)

              5. นางสาวฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ (ซี) ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการไอที

              6. เด็กหญิงกุลฑีรา ยอดช่าง (น้องอันดา) นักแสดงเด็กมากความสามารถ


วันต่อต้านยาเสพติด 2557

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

21 มิถุนายน วันดำรงราชานุภาพ

  พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่งของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นสกุล"โรจนดิศ" เป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕


ทรงฉายกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนาม และพระพรประกอบด้วยคาถาเป็นภาษาบาลี ซึ่งมีคำแปล ดังต่อไปนี้"สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามผู้บิดาขอตั้งนาม กุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็ก เป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการสิ้นกาลนาน ต่อไป เทอญ"


ทรงฉายพร้อมกล้องคู่พระหัตถ์

พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุณปาน ราชนิกุล ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาบาลี ในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย) ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ซึ่งมีมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สันเป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษาวิชาหลักรัฐประศาสนศาสตร์จากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕


พ.ศ.๒๔๗๒ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นอิสริยยศสูงสุดสำหรับพระองค์ท่านตราบจนสิ้นพระชนม์
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย องค์ปฐมผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมศึกษาธิการ(ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ) อภิรัฐมนตรี นายกราชบัณฑิตยสภา และทรงบุกเบิกงานด้านโบราณคดีไทยศึกษา โดยทรงนิพนธ์หนังสือที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทรงเป็นองค์ผู้อำนวยการก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (รร.หลวงแห่งแรก) โรงเรียเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ(รร.เอกชนแห่งแรก) โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลศิริราช


ทรงต้อนรับเจ้านายฝ่ายในที่เสด็จเปิดตำหนักแดง

วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติประกาศ เฉลิมฉลองวันประสูติ ครบ ๑๐๐ ชันษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ให้ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการถวายสดุดีเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" โดยมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพร้อมกันในสมาชิกประเทศของยูเนสโกทั่วโลกเป็นเวลา ๑๔ วันวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้ วันที่ ๑ ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันดำรงราชานุภาพ" เพื่อน้อมนำให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยเป็นอเนกอนันต์สืบไป
---------------

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประชุม ปฏิบัติการส่งเสริมการอ่านเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 0-6 ปี

นางสาวนงเยาว์  ทับเที่ยง บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ห้องสมุดประชาชนอำเภอกันตัง ร่วมเป็นวิทยกรในการประชุมปฏิบัติการการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 0-6 ปี ระหว่างวันที่ 27 - 29 พฤษภาคม  2558  ณ สถาบัน กศน.ภาคใต้  จังหวัดสงขลา โดยมีบรรณารักษ์และผู้ปฏิบัติงานห้องสุดใน 14 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วมประชุม ทั้งสิ้น 70 คน


















สัญญาณเติอนเมื่อใช้สมองเกินขีดจำกัด

 สัญญาณเตือน เมื่อใช้สมองเกินขีดจำกัด


ร้อยละ ๘๕ ของวัน คนเราใช้งานสมองซีกซ้าย ซึ่งเป็นส่วนที่รับข้อมูลความรู้ใหม่ รวมถึงแปลความหมาย สื่อภาษา การวิเคราะห์ การใช้เหตุผล โดยหารู้ไม่ว่า สมองซีกซ้ายนั้นมีขีดจำกัดอยู่เช่นกัน

สัญญาณบ่งบอกว่า สมองซีกซ้ายใช้งานจนถึงขีดจำกัดแล้ว คือ ความรู้สึกอ่อนเพลีย ล้า คิดอะไร ไม่ออก ดังนั้น หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วควรพักผ่อนสมอง เช่น งีบพักสักช่วงหนึ่ง หรือนอนหลับ       อย่างจริงจัง ถือเป็นวิธีพักผ่อนสมองซีกซ้ายที่ดีที่สุด โดยหลังตื่น จะรู้สึกผ่อนคลายและสามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ

ทว่า ยังฝืนละเลยสัญญาณเตือน คราวนี้สมองจะเริ่มควบคุมระบบในร่างกาย ด้วยการเตือน           ที่รุนแรงขึ้น เช่น การเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติ และหากมีความกดดันร่วมด้วย ร่างกายจะปล่อยสารอะดรีนาลีนกับคอร์ติซอล เกิดการตื่นตัวจนยากที่จะหลับหรือผ่อนคลาย ยิ่งถ้ามีสภาวะเครียดเพิ่มเข้ามาอีก สารดังกล่าวจะปิดกั้นความคิดโดยอัตโนมัติด้วย อีกนัยหนึ่งคือ กลายเป็นคนตาแข็ง หลับยาก หัวสมองตื้อ

อย่างไรก็ตาม คนเราสามารถสร้างความสมดุลให้สมอง เพื่อลดเลี่ยงความอ่อนล้า และสัญญาณเตือนข้างต้น ด้วยการใช้สมองซีกขวามากขึ้น อย่างทำกิจกรรมสนุก ๆ ที่เราชอบเช่น การดูหนังตลก เต้นรำฟังเพลงร้องเพลงการทำศิลปะ และการเล่นกับสัตว์เลี้ยง เหล่านี้ทำให้สมองซีกขวาหลั่งสารเอนโดรฟิน (สารแห่งความสุข) ได้อย่างรวดเร็ว ส่งให้เกิดความรู้สึกดี มีความสุข และผ่อนคลาย แถมยังต่อสู้กับความเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย


นับจากนี้ ระหว่างทำงานใช้สมอง ใช้ความคิด อย่าลืมพักสมองซีกซ้าย สลับมาใช้สมองซีกขวาดูบ้าง น่ะ

ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ 2012-04-23 17:43:57 ]

ข้อมูล :  เยาวนี ตระกูลดิษฐ์ /YT_yayanee@hotmail.com