วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

21 มิถุนายน วันดำรงราชานุภาพ

  พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่งของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นสกุล"โรจนดิศ" เป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕


ทรงฉายกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนาม และพระพรประกอบด้วยคาถาเป็นภาษาบาลี ซึ่งมีคำแปล ดังต่อไปนี้"สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามผู้บิดาขอตั้งนาม กุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็ก เป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการสิ้นกาลนาน ต่อไป เทอญ"


ทรงฉายพร้อมกล้องคู่พระหัตถ์

พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุณปาน ราชนิกุล ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาบาลี ในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย) ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ซึ่งมีมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สันเป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษาวิชาหลักรัฐประศาสนศาสตร์จากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕


พ.ศ.๒๔๗๒ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นอิสริยยศสูงสุดสำหรับพระองค์ท่านตราบจนสิ้นพระชนม์
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย องค์ปฐมผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมศึกษาธิการ(ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ) อภิรัฐมนตรี นายกราชบัณฑิตยสภา และทรงบุกเบิกงานด้านโบราณคดีไทยศึกษา โดยทรงนิพนธ์หนังสือที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทรงเป็นองค์ผู้อำนวยการก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (รร.หลวงแห่งแรก) โรงเรียเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ(รร.เอกชนแห่งแรก) โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลศิริราช


ทรงต้อนรับเจ้านายฝ่ายในที่เสด็จเปิดตำหนักแดง

วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติประกาศ เฉลิมฉลองวันประสูติ ครบ ๑๐๐ ชันษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ให้ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการถวายสดุดีเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" โดยมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพร้อมกันในสมาชิกประเทศของยูเนสโกทั่วโลกเป็นเวลา ๑๔ วันวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้ วันที่ ๑ ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันดำรงราชานุภาพ" เพื่อน้อมนำให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยเป็นอเนกอนันต์สืบไป
---------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น